ลูกดาด

ลูกดาด (Drive) คือ ลูกดาดที่พุ่งเฉียดข้ามตาข่าย มีวิถีพุ่งข้ามขนานไปกับพื้นสนาม ผู้เล่นตีลูกดาดสูงในระดับอก ตีได้ทั้งหน้ามือโฟร์แฮนด์ และหลังมือแบ็คแฮนด์ทั้งจากด้านซ้ายและขวาของลำตัว (ดูภาพที่ 1)


(ภาพที่ 1) วิถีของลูกดาด

ลูกดาดที่ตีจากระดับต่ำ ลูกที่ข้ามไปจะเป็นลอยสูงไม่ขนานกับพื้นสนาม มีแนวโน้มที่จะข้ามตาข่ายไปในลักษณะของลูกงัดโด่ง

ลูก ดาดใช้สำหรับสร้างสถานการณ์เป็นฝ่ายรุกโจมตี ไม่เปิดโอกาสให้อีกฝ่ายหนึ่งตอบโต้กลับมาด้วยลูกตบ เป็นลูกที่พุ่งข้ามตาข่ายด้วยความเร็วในวิถีตรง โดยที่ผู้เล่นสามารถวางเป้าหมายให้ลูกพุ่งไปสู่ทุกจุดของสนามตรงจ้าม อาจจะเป็นลูกดาดสุดสนาม (ดูภาพที่ หมายเลข 1) ดาดครึ่งสนาม (หมายเลข 3) หรือตีเบา ๆ ให้กลายเป็นลูกแตะหยอด (หมายที่ 2)


(ภาพที่ 2) ลูกดาดวิถีต่าง ๆ

ลูก ดาดใช้กันมากในประเภทคู่ เพราะลูกดาดรักษาความเป็นฝ่ายรุก หลีกเลี่ยงการส่งลูกโด่งเปิดโอกาสให้คู่แข่งใช้ลูกตบได้ อีกทั้งยังบีบบังคับให้คู่แข่งมีเวลาสำหรับการตีโต้กลับมาด้วยช่วงเวลาสั้น ยิ่งถ้าคู่แข่งเสียหลักถลำไปอีกซีกหนึ่งของสนาม ลูกดาดที่พุ่งไปอีกด้านหนึ่งของสนาม จะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งไม่สามารถจะกลับตัวมาตีลูกได้

ในการเล่นประเภท คู่ ลูกดาดแทงครึ่งสนามยังใช้สำหรับหลบผ่านผู้เล่นที่อยู่ด้านหน้าของอีกฝ่าย หนึ่ง ในขณะเดียวกันวิถีดาดของลูกที่ข้ามไป ผู้เล่นมือหลังก็ไม่อาจจะตอบโต้กลับมาด้วยลูกตบได้ ถ้าใช้ลูกดาดพุ่งไปยังมุมที่สามของฝ่ายตรงข้าม ในหลาย ๆ ครั้งจะพลิกสถานการณ์จากการเป็นฝ่ายรับให้กลายเป็นฝ่ายรุกได้ทันที

ลูกดาด เป็นแรงตีที่มาจากแรงเหวี่ยงของแขน ผสมผสานกับแรงตวัดของข้อมือ อาจจะมีแรงโถมของน้ำหนักตัว หรือไม่มีเลยก็ได้

การ กำหนดแรงตี จะทำให้ลูกดาดข้ามไปยังเป้าหมายที่แตกต่างกัน ถ้าเป็นลูกดาดสุดสนาม แรงเหวี่ยงตีกับการตวัดของข้อมือก็ต้องออกแรงเต็มที่ ถ้าเป็นลูกดาดครึ่งสนามก็ต้องลดความแรงลงบางส่วน แต่ก็ยังต้องใช้การดีดตวัดของข้อมือช่วยส่งลูก เพื่อให้ลูกดาดที่ข้ามตาข่ายไปนั้น มีวิถีวิ่งที่ฉวัดเฉวียนรวดเร็ว คู่ต่อสู้ไม่อาจจะมาดักตะปบลูกได้

หรือบางครั้งจะใช้เป็นลูกหลอก แทนที่จะเป็นลูกดาดพุ่งเร็ว อาจจะตีเป็นลูกแตะหยอดทิ้งไว้หน้าตาข่ายของอีกฝ่ายหนึ่งก็ได้ แต่ต้องเป็นวิถีการตีลูกที่เร็ว ไม่อ้อยอิ่งจนอีกฝ่ายหนึ่งพุ่งเข้ามาแย๊ปได้

ลูกดาดที่สมบูรณ์ ต้องข้ามตาข่ายไปในวิถีตรง ลูกพุ่งข้ามไปด้วยความเร็ว ในขณะเดียวกันต้องข้ามไปในวิถีวิ่งเลียดตาข่าย ลูกดาดที่พุ่งสู่เป้าหมายห่างตัวคู่ต่อสู้มากเท่าใด จะเป็นการวางลูกที่สร้างความปลอดภัยให้แก่ผู้ตี และบีบให้อีกฝ่ายหนึ่งตกอยู่ในสภาพเสียเปรียบเป็นฝ่ายรับ ในหลาย ๆ กรณีต้องตอบโต้กลับมาเป็นลูกงัด หรือลูกโยนโด่ง เปิดโอกาสให้เราเป็นฝ่ายทำ เป็นฝ่ายรุกโจมตีได้

ลูกดาดที่ตีง่าย และถนัด ได้แก่ลูกที่พุ่งมาสองด้านของลำตัว เพราะมีมุมสำหรับเหวี่ยงตีลูก แต่ในบางกรณี ลูกที่พุ่งตรงเข้ามาหาลำตัว ผู้เล่นจำเป็นที่จะต้องใช้จังหวะเท้าฟุตเวิร์คดันตัวเองให้พ้นวิถีลูก เพื่อเปิดมุมสำหรับเหวี่ยงตีลูกได้ ควรกำหนดระยะการประชิดให้พอที่จะตีลูกได้อย่างสบาย ปล่อยลำแขนเหวี่ยงตีลูกและตวัดข้อมือได้อย่างเสรี ควรตีลูกในระดับสูง และเป็นฝ่ายวิ่งเข้าไปหาลูกเสมอ

ลูกดาด - ด้วยการนั่งย่อตี

การ ตีลูกดาดด้วยการนั่งย่อตี กล่าวได้ว่าเป็นวิธีการตีแบดมินตันที่คนไทยริเริ่มขึ้น มาจากการเล่นประเภทสาม หรือเกมเล่นที่มีผู้เล่นฝ่ายละสามคน
การนั่งย่อ ตัวตีสวนลูกใช้ได้ผลดีในประเภทคู่ ถึงกระนั้นก็ไม่ควรใช้บ่อย เพราะการนั่งย่อตัวตีลูก ทำให้การกลับลำทรงตัวช้า บางครั้งอาจจะทำให้พลาดพลั้งหรือเสียการทรงตัว แต่การนั่งย่อตีสวนลูกดาดในจังหวะที่เหมาะสม กลายเป็นวิธีการเล่นที่ส่งลูกข้ามตาข่ายไปในวิถีที่ฝ่ายตรงข้ามคาดไม่ถึง อาจใช้ในกรณีที่จวนตัว หรือลูกที่พุ่งตรงเข้าหาลำตัว เป็นการแก้ไขพลิกสถานการณ์จากฝ่ายรับให้เป็นฝ่ายรุกได้
การฝึกตีลูกดาด ให้ผู้เล่นสองคนอยู่คนละฝ่ายของสนาม ตีลูกดาดด้วยการยืนอยู่ประมาณครึ่งสนาม ตีซ้ายขวาข้ามไปมาช้า ๆ พยายามบังคับให้ลูกวิ่งเลียดข้ามโดยไม่ติดตาข่าย ในระยะแรก ๆ ให้เผื่อข้ามเลยตาข่ายไว้ก่อน เมื่อเกิดความชำนาญ เกิดทักษะ จึงค่อยทวีความแรง กับความเร็วมากขึ้น