การตีลูกหลังมือ แบ๊คแฮนด์

การตีลูกหลังมือ แบ๊คแฮนด์

นักเล่นหัดใหม่ หรือแม้แต่คนที่เล่นแบดมินตันมานาน มักจะบ่นกันเสมอว่า การตีลูกหลังมือ หรือแบ๊คแฮนด์ ทำไมถึงตียากตีเย็น เหวี่ยงตีเต็มที่แต่ลูกไม่วิ่งไกล ตีลูกไม่ถึงหลังสนามฝ่ายตรงข้าม หรือตีได้แรงเหมือนกับการตีลูกหน้ามือโฟร์แฮนด์ ลองมาค้นหาสาเหตุแก้ไขปัญหาของการตีลูกหลังมือ

ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในบทก่อน แรงของการตีลูกมาจาก 3 แหล่งใหญ่ ๆ คือ
1. แรงเหวี่ยงของแขน
2. แรงตวัดบวกกับการสะบัดของข้อมือ และ
3. แรงโถมจากการเปลี่ยนน้ำหนักตัวจากเท้าหลังไปสู่เท้าหน้า

แต่การตีลูกหลังมือ จะมีแรงตีลูกที่มาจาก 2 แหล่งแรกเท่านั้น โดยไม่มีแรงโถมจากตัวที่เกิดจากการเปลี่ยนน้ำหนักตัวที่ถ่วงจากเท้าหลังไป สู่เท้าหน้าเป็นแรงเสริม เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้เล่นจะต้องใช้แรงตีลูกทั้ง 2 ที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิผลมากที่สุดเท่าที่จะกระทำได้

ในการตีลูกหน้ามือ โฟร์แฮนด์ ในขณะที่แร็กเก็ตกระทบสัมผัสลูกขนไก่นั้น แขนของผู้เล่นจะต้องเหยียดอยู่ในแนวตรง เพื่อเปิดโอกาสให้แรงเหวี่ยงตีลูกจากทั้ง 3 แหล่งผ่องถ่ายไปสู่การปะทะตีลูกอย่างเต็มเหนี่ยว ตั้งหน้าแร็กเกตให้ตรง เพื่อให้เอ็นมีส่วนผลักดันลูกให้พุ่งออกจากแหล่งอย่างเต็มที่อีกแรงหนึ่ง

เมื่อเป็นเช่นนี้ การตีลูกหลังมือ ผู้เล่นจะต้องไม่ลืมเทคนิคขั้นพื้นฐานดังกล่าว นำมาใช้กับการตีลูกหลังมืออย่างเต็มที่เช่นกัน กล่าวคือ ขณะที่เหวี่ยงตีลูกหลังมือนั้น ข้อศอกต้องงอพับเพื่อสร้างวงสะวิงในการเหวี่ยงตีลูก แต่ในขณะที่แร็กเก็ตกระทบสัมผัสตีลูกขนไก่นั้น แขนของผู้เล่นต้องเหยียดตรง (ดูภาพประกอบ) เพื่อให้แรงเหวี่ยงตีลูกที่มาจาก 2 แหล่ง ได้ผ่องถ่ายไปสู่การปะทะตีลูกหลังมืออย่างสุดกำลัง ตั้งหน้าแร็กเก็ตให้ตรง ในลักษณะเดียวกับการตีลูกหน้ามือ หรือโฟร์แฮนด์
 
พึงรำลึกไว้เสมอว่า การตีลูกหลังมือ เพื่อให้แรงเหวี่ยงตีลูกที่มีอยู่จำกัดได้ถูกใช้อย่างเต็มที่ ในขณะที่แร็กเก็ตสัมผัสกระทบตีลูกนั้น แขนของผู้เล่นจะต้องเหยียดอยู่ในแนวตรงเสมอ
ข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นแก่ผู้เล่นที่ตีลูกหลังมือไม่แรงบ่อย ๆ นั้น เป็นเพราะผู้เล่นไม่ได้เหยียดแขนในแนวตรงขณะที่แร็กเก็ตสัมผัสลูกขนไก่ หรือไม่ก็เป็นเพราะตั้งหน้าแร็กเก็ตไม่ตรง หน้าแร็กเก็ตเอียง
ไปเพียงนิดเดียว จะทำให้ผลกระทบ (Impact) ของการตีลูกลดน้อยลงไปอย่างมากมาย
ลูก หลังมือ หรือแบ๊คแฮนด์ เป็นลูกที่จัดอยู่ในประเภทของการรับ (Defensive) ผู้เล่นหลาย ๆ คนอาจจะเลือกใช้ลูกคร่อมเหนือศีรษะ หรือ โอเวอร์เฮ็ด(Overhead)แทน เป็นลูกที่จัดอยู่ในประเภทรุก(Offensive) แต่การตีลูกคร่อมศีรษะนั้นกินแรงมากกว่าตีลูกหลังมือ อีกประการหนึ่งถ้าลูกที่พุ่งมาทางด้านซ้ายของผู้เล่นมากเกินไป ก็ไม่อาจจะใช้ตีด้วยลูกโอเวอร์เฮ็ดได้ แต่ก็มีผู้เล่นมากรายที่สามารถพัฒนาฝึกซ้อมจนการตีลูกหลังมือกลายเป็นจุด แข็ง ทำให้ฝ่ายตรงข้ามเดาไม่ออกว่าลูกที่จะข้ามไปนั้น จะข้ามไปในลักษณะใด จะเป็นการโยนโด่งสองมุมหลัง หรือแตะหยอดสองมุมหน้า หรือแม้แต่การตบลูกหลังมือด้วยลูกหลังมือแบ๊คแฮนด์ ก็ยังสามารถกระทำได้ด้วยความรุนแรง เป็นการปรับเปลี่ยนสภาพของฝ่ายรับให้เป็นฝ่ายรุกได้
การตีลูกหลังมือ แบ๊คแฮนด์ให้แรง ต้องขยันฝึกตีลูกให้มากเป็นพิเศษ เหวี่ยงตีจนผู้เล่นสามารถจับจังหวะการตีลูกได้แรงตามต้องการ ต้องรำลึกไว้เสมอว่า แรงตีลูกที่มีเพียงการเหวี่ยงของแขน กับการตวัดกระชากของข้อมือเพียงสองแรงเท่านั้น ให้นำมาใช้เหวี่ยงกระตุกตีลูกให้แรงอย่างเต็มที่ และกระแทกตีลูกให้ปลิวออกจากแร็กเก็ตพุ่งไปยังจุดหมายตามต้องการ