ลูกโยน

ลูกโยน (Lob or Clear)
คือ ลูกที่ตีพุ่งโด่งข้ามไปในระดับสูง และย้อยตกลงมาในมุม 90 องศาในแดนตรงข้าม เป็นลูกที่ตีจากเหนือศีรษะ หรือ Overhead หรือจะงัดจากล่าง หรือ Underhand ก็ได้ ตีได้ทั้งหน้ามือ โฟร์แฮนด์ และหลังมือ แบ็คแฮนด์
ลักษณะการตีลูกโยน หรือ ลูกโด่ง

ลูกโยน เป็นลูกเบสิคขั้นพื้นฐาน นักเล่นหัดใหม่จะเริ่มจากการหัดตีจากลูกโยน จึงเป็นลูกเบสิคที่สุดในกีฬาแบดมินตัน มองเผิน ๆ แล้วส่วนมากจะคิดว่า ลูกโยนเป็นลูกที่ใช้สำหรับแก้ไขสถานการณ์ โยนลูกข้ามไปสูงโด่งมากเท่าใด ก็จะมีเวลาสำหรับการกลับทรงตัวของผู้เล่นมากเท่านั้น แต่ในความเป็นจริง ลูกโยนอาจจะใช้สำหรับเป็นการเล่นในเชิงรุกก็ได้ เช่น การตีลูกโยนแบบพุ่งเร็วจี้ไปยังมุมหลังทั้งสองด้าน (Attacking Clear) จะทำให้ฝ่ายตรงข้ามตกเป็นฝ่ายรับ ถ้าอยู่ในสถานการณ์เสียหลักจวนตัว จะทำให้การแก้ไขกลับการทรงตัวได้ยากยิ่งขึ้น

ลูกโยน มีจังหวะการตีคล้ายคลึงกับการตบลูก แต่ไม่ต้องใช้แรงกดมากเท่า แทนที่จะตีกดลูกลงต่ำ กลับเป็นการตีเสยลูกให้พุ่งโด่งขึ้นไปด้านบน สุดแท้แต่ว่าผู้เล่นจะบังคับให้ลูกพุ่งข้ามไปในระดับ วิถี ความเร็วตามต้องการลูกโยนที่ข้ามไปอย่างสมบูรณ์แบบ จะต้องมีแรงวิ่งไกลถึงสุดสนามตรงข้าม และต้องไม่ดาดจนคู่แข่งสามารถดักตะปบตีลูกได้ครึ่งทาง ลูกโยนที่ไม่ถึงหลัง หรือตีเข้าสู่มือคู่ต่อสู้ จะทำให้ฝ่ายเราเสียเปรียบ
การตีลูกโยน ให้กลับไปดูบทก่อน ๆ ที่ว่าด้วยการตีลูก แรงของการตีลูก และจังหวะฟุตเวิร์คของการตีลูก ฝึกฝนให้ดีจนสามารถจับจังหวะการเหวี่ยงตีลูกโยนไปถึงด้านหลังของฝ่ายตรงข้าม ได้อย่างง่าย ๆ และสบาย ๆ ในจังหวะ วิถี และระดับที่เราสามารถบังคับให้ลูกข้ามไปตามที่เราต้องการ
ซูซี่ ซูซานติ แชมเปี้ยนโลกเดี่ยวหญิง และแชมเปี้ยนเหรียญทองโอลิมปิคหญิงเดี่ยวคนแรกของโลกจากอินโดนีเซีย มีลูกโยนที่เล่นได้เยี่ยมสุดยอด ลูกโยนของเธอตีง่าย ๆ ตีเนิบ ๆ แต่หนักแน่นและลึกถึงหลัง เธอสามารถตีป้อนโยนเข้ามุมหลังทั้งสองข้างได้ลึก และแม่นยำ จึงทำให้เธอได้ครองความเป็นราชินีแห่งการเล่นเดี่ยวหญิงของโลกอย่างต่อเนื่องหลายปีด้วย
ลูกโยน อาจจะแบ่งออกมาได้ 3 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
    - ลูกโยนหน้ามือ (Forehand Clear)
    - ลูกโยนหลังมือ (Backhand Clear)
    - ลูกงัดโยน (Underhand Clear)
ลูกโยนหน้ามือ
แรงตีเกิดจากการประสานของแรงเหวี่ยง แรงตวัด การสะบัดของลำแขน ข้อมือ จังหวะฟุตเวิร์คที่ถูกต้อง บวกกับการเปลี่ยนน้ำหนักตัวจากเท้าหลังไปสู่เท้าหน้า โดยที่แรงตีที่ผ่านแร็กเก็ตไปสัมผัสลูกในช่วงวินาทีที่ถูกจังหวะจะโคน รวมแรงดีด ผลัก ดันให้ลูกพุ่งสูงโด่งไปยังสนามตรงข้าม ตามเป้าหมายที่ต้องการ (ดูภาพสาธิตประกอบ)
ลูกโยนหลังมือ
แรงตีเกิดจากการประสานงานเช่นเดียวกับการตีลูกหน้ามือ แต่การวางฟุตเวิร์คสลับกัน และไม่มีแรงโถมที่มาจากการเปลี่ยนน้ำหนักตัวจากเท้าหลังไปสู่เท้าหน้า แรงตีลูกหลังมือเกือบทั้งหมดจึงมาจากแรงเหวี่ยง แรงตวัด และการสะบัดของลำแขน กับข้อมือ เท่านั้น โดยเหตุที่การตีลูกหลังมือ แหล่งที่มาของแรงตีลูกมีจำกัด แรงเหวี่ยง แรงตวัดของลำแขนที่มาจากหัวไหล่ กับแรงที่เกิดจากการสะบัดข้อมือ จึงจำเป็นต้องประสานงานสอดคล้องกันอย่างกลมกลืนเป็นจังหวะเดียว
โดยทฤษฎีแล้ว ลูกหลังมือน่าจะเป็นลูกรับสำหรับแก้ไขสถานการณ์มากกว่าเป็นลูกบุก แต่ถ้าฝึกตีลูกให้แรง และมีความคล่องแคล่วชำนาญ จะกลายเป็นการตีลูกที่ผู้เล่นสามารถสร้างเขี้ยวเล็บให้แก่การตีลูกหลังมือ ของตนกลายเป็นการเล่นเชิงรุก(Offensive Play)ได้ จังหวะของการดีด สะบัดข้อที่กระทำได้ในเสี้ยววินาทีกับแรงเหวี่ยงของแร็กเก็ตอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้เล่นสามารถพลิกโฉมจากเกมรับเป็นเกมรุกได้ในบัดดล เพียงแต่บิดหน้าแร็กเก็ต เปลี่ยนจุดเป้าหมายการตี ลูกก็จะวิ่งไปอีกทางหนึ่ง ทำให้ผู้เล่นสามารถสร้างสัดส่วนของการเล่นลูกหลอก(Deceptive Play)ได้อย่างแพรวพราวด้วยลูกหลังมือ ไม่ว่าจะเป็นลูกโยนหลังมือกระแทกไปมุมหนึ่งมุมใดของสองมุมหลัง หรือแตะหยอดด้วยหลังมือ บังคับให้ลูกวิ่งเข้าสู่มุมซ้ายขวาด้วยความเร็ว หรือบางทีอาจจะใช้ข้อตวัดตบด้วยหลังมือขนานเส้น หรือทะแยงมุมก็สามารถจะทำได้
ลูกงัดโยน
ลูกงัด คือการตีลูกโดยช้อนตวัดตีลูกจากล่างสะบัดขึ้นด้านบน หรือ Underhand เป็นการช้อนตีลูกจากต่ำไปสู่สูง เป็นลูกที่ไม่ต้องใช้แรงเหวี่ยงตีมากเท่าไหร่ ใช้ข้อกระตุกหรือสะบัดลูกก็จะปลิวออกจากแร็กเก็ตอย่างง่ายดาย ส่วนมากจะเป็นลูกที่เข้าประชิดด้านหน้าของสนาม เช่น การเข้ารับลูกแตกหยอดหรือลูกหยอดที่ฝ่ายตรงข้ามส่งข้ามมา หรือการรับลูกตบ เป็นต้น



ลูกงัดใช้ตีได้ทั้งหน้ามือและหลังมือ เป็นลูกที่ได้แรงตีมาจากการตวัด กระตุกหรือสะบัดของข้อมือมากกว่าแรงตีจากแหล่งอื่น การตีลูกงัดผู้เล่นต้องยืดแขนและตีลูกสุดช่วงแขน
ลูกงัดบริเวณหน้าตาข่าย ถ้าเข้าประชิดลูกได้เร็ว มีโอกาสตีลูกในระดับสูง จะใช้เป็นลูกหลอกล่อคู่ต่อสู้ด้วยการเล่นลูกสองจังหวะ เหยียดแขนยื่นแร็กเก็ตออกไป จะทิ้งเป็นลูกหยอดก็ได้ หรือจะกระแทกลูกไปด้านหลังของสนามตรงข้ามก็ได้ จะเป็นการเล่นลูกหลอกสองจังหวะที่สำคัญอีกลูกหนึ่งในเกมเล่นแบดมินตันที่ผู้เล่นทุกคนจะมองข้ามไม่ได้

"ลักษณะ ของการเข้าประชิดตีลูกงัดโฟร์แฮนด์ และแบ๊คแฮนด์ หน้าแร็กเก็ตจะวางเหมือนกับการหยอดลูก ที่สามารถใช้เป็นลูกหลอกสองจังหวะด้วยการผลักลูกไปด้านหลังสนามแบบงัดดาด ได้"

การงัดลูกแบ่งเป็น สองวิถีใหญ่ ๆ คือ การงัดลูกให้พุ่งข้ามไปโดยไม่โด่งนัก ใช้เป็นการงัดลูกแบบรุก อีกวิถีหนึ่งคือการงัดลูกโด่ง ดึงให้คู่ต่อสู้ไปด้านหลังสนาม เพื่อให้เวลาสำหรับการกลับทรงตัวสู่จุดศูนย์กลางได้มากขึ้น

ฝึกหัดตีลูกโยนตามหลักวิธีที่แนะนำมาถึงขั้นตอนนี้ โปรดอย่าลืมหลักขั้นพื้นฐานที่ได้อธิบายไว้แล้วในบทก่อน ๆ ทุกครั้งที่ตีลูก จะต้องไม่ลืมหลักการตีลูกใหญ่ ๆ ดังนี้ คือ
    หน้าแร็กเก็ตต้องตั้งให้ตรงขณะตีลูก
   ขณะที่แร็กเก็ตสัมผัสกระทบตีลูกนั้น แขนของผู้เล่นจะต้องเหยียดอยู่ในแนวตรงเสมอ
    วิ่งเข้าไปหาลูก อย่ารอให้ลูกวิ่งเข้ามาหาเรา
    เข้าประชิดตีลูกในระดับสูงที่สุดเท่าที่เราสามารถจะทำได้ และ
    ต้องรู้จักดักลูก และเข้าปะทะ (Intercept) ลูกให้เร็วขึ้นเสมอ